เคยสงสัยกันไหมว่าทุกครั้งที่ซื้อทองรูปพรรณทำไมต้องจ่ายค่ากำเหน็จ ค่ากำเหน็จคืออะไร แล้วหากต้องการขายทองรูปพรรณจะได้ค่ากำเหน็จคืนหรือไม่ เรารวบรวมคำตอบไว้ที่นี่แล้ว
ค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ
ค่ากำเหน็จทองรูปพรรณคือค่าแรงหรือค่าจ้างช่างที่แปรรูปเครื่องประดับทองรูปพรรณขึ้นมา เช่น แหวนทอง ต่างหูทอง สร้อยข้อมือ กำไล จี้ทอง ซึ่งค่าแรงที่จ่ายให้ร้านทองจะมีหลากหลายระดับ โดยจะคิดค่ากำเหน็จตามลวดลาย ความยากง่ายและความซับซ้อนของงาน ซึ่งจะอยู่ที่ราวบาทละ 500-3,000 บาท ต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท ขึ้นกับลวดลายและราคาในแต่ละร้าน
ยกตัวอย่างวิธีการคิดค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ
ซื้อสร้อยคอหนัก 2 บาท ราคาทอง ณ ตอนที่ซื้ออยู่ที่บาทละ 20,000 บาท และมีค่ากำเหน็จอยู่ที่บาทละ 500 บาท
โดยจะคิด ราคาทอง 20,000 x 2 = 40,000 บาท
ค่ากำเหน็จ 500 x 2 = 1,000 บาท
ให้นำราคาทองรูปพรรณ และค่ากำเหน็จมารวมกันจะเป็นราคาสุทธิที่ต้องชำระให้ร้านทอง
คือ 40,000 + 1,000 = 41,000 บาท
ค่าบล็อกทองคำแท่ง
ค่ากำเหน็จนอกจากจะคิดในทองรูปพรรณแล้ว ยังมีค่ากำเหน็จของทองคำแท่ง เรียกว่า ค่าบล็อก หรือ ค่าพรีเมี่ยม แต่จะมีราคาถูกกว่าค่ากำเหน็จ เนื่องจากผลิตง่ายกว่าทองรูปพรรณ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงผลิตเป็นแท่งบล็อคสี่เหลี่ยม โดยทั่วไปค่าบล็อกทองคำแท่ง 1 บาท จะอยู่ราว 100-400 บาท
ซึ่งค่าบล็อกทองคำจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ค่าบล็อคทองคำแท่งแบบหลอมเบ้า (Casting) หรือ ทองคำแท่งแบบ Cast Bar เป็นการผลิตทองคำแท่งในปริมาณมากๆ ไม่มีลวดลายมากนัก โดยส่วนใหญ่จะไม่เสียค่าบล็อก และค่าบล็อคทองคำแท่งแบบรีดแผ่น (Stamping) หรือ ทองคำแท่งแบบ Minted Bar เป็นทองคำแท่งน้ำหนักน้อยๆ จะมีความสวยงามและมีลวดลายหลากหลาย เช่น ลายมังกร ลายหัวใจ
ยกตัวอย่างวิธีการคิดค่าบล็อกทองคำแท่ง
ซื้อทองคำแท่งหนัก 2 บาท ราคาทอง ณ ตอนที่ซื้ออยู่ที่บาทละ 20,000 บาท และมีค่าบล็อกอยู่ที่บาทละ 500 บาท
โดยจะคิด ราคาทอง 20,000 x 2 = 40,000 บาท
ค่ากำเหน็จ 500 x 2 = 1,000 บาท
ให้นำราคาทองคำแท่ง และค่าบล็อกมารวมกันจะเป็นราคาสุทธิที่ต้องชำระให้ร้านทอง
คือ 40,000 + 1,000 = 41,000 บาท
เมื่อเรานำทองรูปพรรณหรือทองคำแท่งไปขายจะได้ราคารับซื้อคืนทองตามประกาศของสมาคมค้าทองคำฯ และไม่บวกค่ากำเหน็จคืนให้ โดยทุกครั้งที่ไปซื้อทองรูปพรรณควรเก็บใบประกันเอาไว้ และเมื่อต้องการนำไปขายให้นำไปขายคืนที่ร้านเดิมจะดีที่สุด เพื่อจะได้รับราคามาตรฐานตามประกาศของสมาคมค้าทองคำฯ